ความประทับใจ



"ชูก้า ไกเดอร์" จิงโจ้บินได้ ร่างเล็ก-เชื่องจากออสเตรเลีย 







แม้ว่า "ชูก้า ไกเดอร์" หรือ "จิงโจ้บิน" เป็นสัตว์นำเข้าที่อยู่ในทำเนียบสัตว์เลี้ยงได้เพียงครึ่งทศวรรษเท่านั้น แต่เพราะตัวมันมีทั้งความสวยงาม และสามารถบินได้ รวมไปถึงมีถุงที่หน้าท้องคล้ายจิงโจ้ ดังนั้นมันจึงได้รับความนิยมจากคนรักสัตว์ในบ้านเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ "ชูก้า ไกเดอร์" เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายกับกระรอกของไทย ฉัตรชัย บุญเหลือ เจ้าของร้าน "ไวล์ด เก็ซท์ เพ็ทชอป" (Wild Guest Petshop) ที่สวนลุมไนท์บาซาร์ กรุงเทพฯ แจกแจงให้ฟังว่า "ชูก้า ไกเดอร์" เป็นสัตว์พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ในตระกูลจิงโจ้ ถือเป็นสัตว์สังคมชอบอยู่ร่วมกันเป็นฝูง 

เดิมทีพวกมันอาศัยอยู่บนพื้นราบ ต่อมาได้เริ่มวิวัฒนาการขึ้นมาอยู่บนต้นไม้ กระทั่งมีคนนำไปเพาะเลี้ยงไว้ในบ้าน เพราะมองว่ามันฉลาด และเคลื่อนไหวคล่องแคล่วว่องไว ในที่สุดก็กลายเป็นสัตว์ที่มีคนนิยมมากที่สุดตัวหนึ่ง สำหรับในเมืองไทยนั้น มีการสั่งนำเข้า "ชูก้า ไกเดอร์" ครั้งแรกราว 5 ปีก่อน (2542) จนทุกวันนี้ คนไทยสามารถเพาะพันธุ์เจ้าจิงโจ้บินได้แล้ว "จุดเด่นของเจ้าชูก้า ไกเดอร์ ซึ่งถือเป็นจุดขายที่ดึงความสนใจของคนรักสัตว์ได้มากที่สุด ก็คือ ลำตัวทั้งสองข้างของมัน จะมีพังผืดตลอดทั้งแนว ฉะนั้น ในยามที่มันกระโดดข้ามต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวาง เจ้าพังผืดที่ว่านี้ จะกางออกทันที เพื่อช่วยในการพยุงตัวให้ร่อนลงอย่างช้าๆ และหากมองอย่างผิวเผิน ผมยอมรับว่า เหมือนมันมีปีกบินได้จริงๆ นอกจากนี้ตัวเมียจะมีกระเป๋าที่หน้าท้องไว้สำหรับเลี้ยงลูกคล้ายจิงโจ้" ฉัตรชัย กล่าวถึงลักษณะของเจ้าชูก้า ไกเดอร์ ไม่เพียงแต่ "ชูก้า ไกเดอร์" จะมีสรีระที่โดดเด่นเท่านั้น ฉัตรชัย บอกว่า เจ้าสัตว์เลี้ยงจากแดนจิงโจ้สายพันธุ์นี้ ยังมีความฉลาดกว่ากระรอกบ้านเราหลายเท่า นอกจากนี้ มันยังเป็นสัตว์เลี้ยงที่เชื่องในระดับที่ใกล้เคียงกับสุนัขมาก ทั้งนี้ จากการศึกษาตำราของฝรั่ง พบว่า หากมันได้รับการฝึกฝนอย่างถูกวิธี มันจะสามารถจดจำชื่อของตัวเองได้เช่นเดียวกับสุนัข "ความเชื่องของเจ้าชูก้า ไกเดอร์ นับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้ที่พบเห็นต่างชื่นชอบในตัวมัน อย่างผมเลี้ยงไว้ตัวหนึ่ง ชื่อ เจ้ากาฟิล เวลาไปไหนผมจะนำมันติดตัวไปด้วยเสมอ โดยจะปล่อยให้มันเกาะตามไหล่และมือ บางครั้งมันก็ปีนป่ายขึ้นไปชุกตามซอกคอของผม แต่เราก็ต้องระวังเล็บของมันด้วย เพราะคมมาก พอมันตกใจอาจจะทำให้เราเป็นแผลได้เช่นกัน" หนุ่มเมืองกรุง วัย 31 ปี กล่าว 

สำหรับมือใหม่ที่ริจะเลี้ยงเจ้าชูก้า ไกเดอร์ นั้น เจ้าของร้านไวล์ด เก็ซท์ เพ็ทชอป แนะนำว่า ต้องถามตัวเองก่อนว่า "เราเป็นคนรักสัตว์หรือไม่ ไม่ใช่เลี้ยงตามกระแสนิยม พอเบื่อหน่ายก็ปล่อยมันทิ้งๆ ขว้างๆ" เมื่อได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่าเลี้ยงมันได้แน่ ก็เริ่มเตรียมกล่องสำหรับเป็นบ้านเจ้าจิงโจ้บิน ทั้งนี้ ภายในกล่องจะต้องบุนวม เพื่อเพิ่มความอบอุ่นด้วย เนื่องจากสัตว์เลี้ยงสายพันธุ์นี้ มันเป็นสัตว์ขี้หนาว "ชูก้า ไกเดอร์" เริ่มเลี้ยงได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป ส่วนสนนราคาที่ซื้อขายในแวดวงสัตว์เลี้ยงปัจจุบันตกราว 2,500-3,000 บาท ด้านอาหารให้กินผลไม้ที่มีรสหวานจำพวก กล้วย แอปเปิ้ล มะละกอ เป็นหลัก โดยสับเปลี่ยนหมุนเวียนชนิดของผลไม้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้มันได้รับวิตามินครบถ้วน นอกจากนี้ ควรให้กินแมลงเป็นอาหารเสริมด้วย เพื่อเพิ่มโปรตีน 

ส่วนปริมาณของอาหารนั้น ในช่วงอายุ 2 เดือนแรก ให้กินวันละ 4-6 ครั้ง เพราะอยู่ในวัยเจริญเติบโต พอย่างเข้าเดือนที่ 3 ให้ลดเหลือวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น จากนั้นเมื่ออายุ 4 เดือนขึ้นไป จึงให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอนก็เพียงพอแล้ว ทั้งนี้ ควรเตรียมน้ำสะอาดตั้งไว้ในกรงให้มันกินด้วย "เคล็ดลับในการเลี้ยงเจ้าชูก้า ไกเดอร์ อีกประการก็คือ หมั่นสังเกตร่างกายของมันสกปรกหรือไม่ หากเลอะเทอะก็พาไปอาบน้ำอุ่น แล้วรีบเช็ดตัวให้แห้งเร็วๆ ป้องกันไม่ให้ปอดของมันชื้น และเมื่ออายุได้ 1 ปี มันก็จะโตเต็มวัย และมีน้ำหนักตัวประมาณ 0.5 กิโลกรัม" ฉัตรชัย แนะนำ ข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับ "ชูก้า ไกเดอร์" ระบุไว้น่าสนใจว่า "ตัวผู้" เมื่อโตเต็มวัย และพร้อมที่จะผสมพันธุ์นั้น ขนของมันบริเวณหัว หรือหน้าผากจะเริ่มไม่มีขน หรือเรียกว่า "หัวล้าน" นั่นเอง ขณะที่ตัวเมีย เริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุเกือบ 1 ปี โดยธรรมชาติสัตว์เลี้ยงชนิดนี้จะออกลูกปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1-2 ตัว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น